ประวัติศาสตร์ ของ อาสนวิหารนักบุญจอร์จ (ตีมีชออารา)

การก่อสร้างอาสนวิหารสามารถแบ่งออกเป็นสองช่วง คือในปี 1736–1751 และ 1755–1774 เข้าใจกันว่าผู้ร่างแบบของอาสนวิหารคือ Joseph Emanuel Fischer von Erlach ผู้ซึ่งในเวลานั้นเป็นผู้อำนวยการสำนักก่อสร้างหลวงในเวียนนา และผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมบาโรก อย่างไรก็ตามไม่มีหลักฐานลายลักษณ์อักษรที่ยืนยันข้อเท็จจริงนี้ปรากฏ[1] เอกสารจากศตวรรษที่ 18 ชื่อว่า Wienerische Diarium ระบุว่าแปลนของอาสนวิหารร่างขึ้นโดย Johann Jakob Schellbauer ที่ปรึกษาประจำนครเวียนนา[1] อาสนวิหารประจำอัครสังฆมณฑลแห่งเดิมอยู่ที่เซนัด ซึ่งต่อมาถูกถล่มโดยพวกเติร์ก และได้ย้ายไปยังเซเกด ในปี 1733 จักรพรรดิชาลส์ที่หกได้ย้ายอาสนวิหารประจำอัครสังฆมณฑลมายังตีมีชออารา ในสมัยบิชอปของ Adalbert von Falkenstein [de] ซึ่งเป็นที่มาของการก่อสร้างอาสนวิหารขึ้น พิธีวางศิลาฤกษ์มีขึ้นในวันที่ 6 สิงหาคม 1736[1][2] หลังก่อสร้างได้หนึ่งปีก็ต้องหยุดก่อสร้างไปเพราะสงครามกับเติร์ก หลังการเสียชีวิตของ Adalbert von Falkenstein ในปี 1739 Nikolaus Stanislavich [de] ผู้หลบหนีดติร์กมาจากกราอีโอวาได้สืบทอดตำแหน่งและมีคำสั่งให้กลับมาก่อสร้างต่อ การก่อสร้างดำเนินไปมากที่สุดในปี 1746–1747[3] ต่อมา บิชอป Franz Anton Engl von Wagrain [de] ผู้สืบตำแหน่งคนต่อมา ได้ผลักดันการก่อสร้างอาสนวิหารต่อไปอีกในปี 1751–1752[3] ในวันที่ 8 กันยายน 1754 (ตรงกับวันฉลองการสมภพของแม่พระมารีย์) บิชอปได้จัดพิธีมิสซาแรกขึ้นที่อาสนวิหาร ถึงแม้ว่าในเวลานั้นอาสนวิหารจะก่อสร้างเสร็จไปเพียงครึ่งเดียว และใช้เพิงไม้กั้นอีกครึ่งหนึ่งที่ยังก่อสร้างอยู่ออก พิธีมิสซาโซเลมน์มีขึ้นด้วยเริ่มแสดงดนตรี Missa in honorem Sanctissimae Trinitatis ผลงานประพันธ์ของ Michael Haydn ให้กับโอกาสนี้เป็นพิเศษ[4]

การก่อสร้างในระยะที่สองมีขึ้นในปี 1755 ถึง 1774 ภายใต้การดูแลของวิศวกร Carl Alexander Steinlein และ Johann Theodor Kostka Edler ในการก่อสร้างระยะสองนี้ได้มีการต่อเติมส่วนที่ขาดหายไปของอาสนวิหาร, สร้างหอคอยสองหอจนเสร็จ และสานต่องานประดับหินในบริเวณเนฟจนเสร็จ ฟาซาดของหอคอนและโถงทางเข้าเป็นส่วนที่ได้รับการใส่ใจมากในการก่อสร้างเป็นพิเศษ ทั้งสองส่วนได้กลายมาเป็นลักษณะสำคัญที่โดดเด่นของอาสนวิหารสืบเนื่องต่อมา[3] ในปี 1761 หอคอยสร้างแล้วเสร็จ แต่คลุมไว้ด้วยไม้กระดาน (clapboards) เพราะการก่อสร้างโดมทองแดงใช้ทุนสูงเกินไปกว่าที่ราชสำนักที่เวียนนาจะอุดหนุนให้ได้ Carl Joseph Römmer ได้เสนอการปรับปรุงแก้ไขแปลนอาสนวิหารในศตวรรษที่ 18 ที่ซึ่งเขาเสนอให้สร้างปอร์ตีโกเพิ่มเข้ามา[2] พิธีอุทิศอาสนวิหารแด่นักบุญจอร์จ มีขึ้นในวันที่ 24 เมษายน 1803 ตรงกับหนึ่งวันหลังวันฉลองของนักบุญจอร์จ องค์อุปถัมภ์แห่งอาสนวิหาร[2] ผู้ประกอบพิธีเสกอาสนวิหารคือบิชอป Ladislaus Kőszeghy von Remete [de][4]

ในปี 1756 อาสนวิหารได้รับการยกระดับขึ้นเป็นโบสถ์แรกแห่งตีมีชออารา (first church of Timișoara) โดยดำริจากจักรพรรดินี Maria Theresa[5] ในปี 1788 ถึง 1790 ที่ซึ่งมีการรบกับเติร์ก อาสนวิหารถูกใช้เป็นโกดังเก็บเหลือและเสบียงของกองทัพ[6] และในการยึดนครตีมีชออาราเมื่อปี 1849 อาสนวิหารถูกใช้งานเป็นที่พักพิงของพลเมือง ในเหตุการณ์เดียวกันนี้ อาสนวิหารยังถูกโจมตีอย่างหนัก[7] มีการทิ้งระเบิดทะลุหลังคาของอาสนวิหาร ในตอนนั้นพลเมืองที่หลบภัยในอาสนวิหารต้องหนีลงไปในสุสานใต้ดินของอาสนวิหาร ที่ซึ่งไว้ร่างของบิชอปและศาสนบุคคลที่สำคัญแห่งเซนัด กับขุนนางมากมาย[6]

แหล่งที่มา

WikiPedia: อาสนวิหารนักบุญจอร์จ (ตีมีชออารา) https://ro.scribd.com/doc/122956824/Timi%C5%9Foara... https://www.yumpu.com/ro/document/view/27135513/bi... https://www.welcometoromania.ro/Timisoara/Timisoar... https://www.tion.ro/stirile-judetului-timis/domul-... http://www.diasporatm.ro/wp-content/uploads/temesv... https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Timi%C... https://www.wikidata.org/wiki/Q1062101#identifiers https://viaf.org/viaf/316732571 https://www.worldcat.org/identities/containsVIAFID... https://www.worldcat.org/oclc/315888917